Bangpakok Hospital

โรคนอนไม่หลับ


เราใช้ชีวิตในการนอนอยู่บนเตียงเกือบครึ่งชีวิต สำหรับท่านที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก โรคนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ และเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ลักษณะของบุคคล นอนหลับไม่ลึก  หูไว ตื่นง่าย หรือมีความวิตกกังวลง่าย รวมถึงปัจจัยกระตุ้น การเปลี่ยนงาน การเสียชีวิตของคนที่รัก การหย่าร้าง พฤติกรรมของผู้ป่วย การนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ การดื่มกาแฟช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน รวมถึงการนอนกลางวันหลังบ่ายสามโมง  เป็นต้น

ลักษณะประเภทของการนอนไม่หลับ

1. Initial insomnia คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนหลับยากใช้เวลานอนนานกว่าจะหลับ

2. Maintenance insomnia คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ยาวมีการตื่นกลางดึกบ่อย

3. Terminal insomnia คือ ภาวะที่ผู้ป่วยตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น

อาการของโรคนอนไม่หลับ

ผู้ที่มีลักษณะอาการนอนไม่หลับทั้ง 3 ประเภท ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง สมาธิลดลง ความสนใจและความจำลดลง อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย และเกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน อาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า และยังสามารถเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน และอาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้โรคนอนไม่หลับเรื้อรังยังเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถและอุบัติเหตุจากการทำงานได้ จึงแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ Sleep Management ที่สถาบันตรัยญาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการแก้ไขปัญหาต่อไป

การวินิจฉัยโรค

ทำการซักประวัติเกี่ยวกับการนอนหลับ สภาวะร่างกายและจิตใจ รวมถึงการประเมินสาเหตุทั้งภายในและภายนอกอื่น ๆ ข้างต้น นอกจากนี้การทำแบบบันทึกการนอน (Sleep Diary) การทำ Sleep Test หรือการติดเครื่องช่วยตรวจสอบการนอนเพื่อทราบถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินผล ซึ่งสามารถทำให้ทราบถึงลักษณะการนอนหลับ อุปสรรคในการนอน และเวลาตื่นที่ผิดปกติได้

การรักษา

การแก้ไขอาการนอนไม่หลับนี้ ทำได้จากการสร้างสุขอนามัยที่ดีในการนอน สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน 2 ชั่วโมง ไม่ควรทำกิจกรรมตื่นเต้นก่อนนอน เช่น ดูหนังสยองขวัญ หรือการเล่นอินเทอร์เน็ต หลีกเลี่ยงแสงจ้าในห้องนอน ควรปิดไฟให้มืด สามารถทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้ว ยังปรับตัวไม่ได้ ควรมาพบแพทย์ เพื่อประเมินปัญหาการนอนไม่หลับ หรือพบจิตแพทย์ หากทุกข์ใจจนแก้ที่ต้นเหตุยาก หรือต้องใช้เวลาในการแก้ไขนาน

 

 

 

Go to top