Bangpakok Hospital

รากฟันเทียม คืนความมั่นใจ ให้รอยยิ้มสดใสอีกครั้ง



รากฟันเทียม คืออะไร
รากฟันเทียม (Dental Implant) คือ การแก้ปัญหาการสูญเสียฟันแท้ที่หลุดไป ด้วยการฝังโครงรากฟันเทียม เพื่อยึดติดกับกระดูกขากรรไกรตรงตำแหน่งที่สูญเสียฟันเเละรากฟันธรรมชาติไป จากนั้นทันตแพทย์จะทำฟันปลอมหรือครอบฟันมายึดติดกับราก เพื่อทดแทนฟันที่หลุดไป ทำให้ฟันสามารถบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าฟันจริง

การทำงานของรากฟันเทียม
รากฟันเทียม ทำงานร่วมกับกระดูกขากรรไกร เมื่อสองส่วนเชื่อมประสานกันสนิทแล้ว จะทำให้เกิดการรองรับฟัน ส่งผลให้ฟันปลอมหรือที่ยึดฟันปลอม ที่ทำงานร่วมกับรากเทียมไม่เลื่อนออกจากจุดที่ต้องการ ซึ่งจะให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากกว่าฟันปลอม

รากฟันเทียมทำจากอะไร

รากฟันเทียมผลิตจากไททาเนียมบริสุทธิ์ เป็นวัสดุที่ออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ใช้ฝังเพื่อยึดติดกับกระดูกขากรรไกร ทดแทนรากฟันธรรมชาติ โดยรากฟันเทียมจะยึดติดกับตัวครอบฟันที่ทำจากวัสดุเซรามิก มีลักษณะเหมือนกับฟันจริง

รากฟันเทียมประกอบด้วยอะไร

  • Fixture คือ ส่วนที่ฝังอยู่ใต้เหงือก อยู่ในกระดูกขากรรไกร ทำหน้าที่แทนรากฟันธรรมชาติ
  • Abutment คือ ส่วนที่ทดแทนโครงสร้างของแกนฟัน เพื่อรองรับตัวครอบฟัน
  • Crown คือ ส่วนของตัวฟัน ทำมาจากเซรามิก ซึ่งสีและรูปร่างจะเหมือนกับฟันจริง



ประเภทของรากฟันเทียม

  • การฝังรากฟันเทียมแบบทั่วไป โดยส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะแนะนำการฝังรากฟันเทียมในรูปแบบทั่วไป เมื่อได้รับการถอนฟัน จะปล่อยให้ร่างกายรักษาแผลเป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป จากนั้นทันตแพทย์จะเริ่มกระบวนการฝังรากฟันเทียม 2 ขั้นตอน ในระหว่างขั้นตอนแรกของการฝังรากฟันเทียมจัปล่อยไว้ประมาณ 3 เดือน เพื่อให้กระดูกประสานกับรากฟันเทียมก่อน หลังจากรากฟันเทียมที่ฝังเสร็จติดอยู่กับกระดูกแล้ว ทันตแพทย์จะดำเนินการต่อด้วยการทำครอบฟันบนรากฟันเทียม
  • การฝังรากเทียมแบบทันที เป็นการฝังรากเทียมภายหลังจากการถอนฟันทันที ซึ่งในบางกรณีสามารถใส่ครอบหรือสะพานฟันบนรากฟันเทียมได้เลย โดยส่วนใหญ่การฝังรากฟันเทียมแบบทันทีจะเหมาะกับคนไข้ที่มีกระดูกขากรรไกรที่ดีเท่านั้น
  • การฝังรากฟันเทียมแบบพร้อมครอบฟันทันที เป็นการฝังรากฟันเทียม ที่ทันตแพทย์จะทำการยึดครอบฟันปลอม หรือสะพานฟัน ทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบถาวร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ ซึ่งจะทำทันทีหลังได้รับการฝังรากฟันเทียม

รากฟันเทียมเหมาะกับใคร

  • ผู้ที่สูญเสียฟันแท้จากอุบัติเหตุ
  • ผู้ที่มีฟันแตกหรือหัก 
  • ผู้ที่ทำฟันปลอมแบบถอดได้ แต่ไม่สำเร็จ
  • ผู้ที่ต้องการใส่ฟันเพียงซี่เดียว โดยฟันข้างเคียงยังอยู่ในสภาพดี
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอมทั้งปากแต่ประสบกับปัญหากระดูกขากรรไกรล่างยุบตัวลงมาก 
  • ผู้ที่ไม่ต้องการกรอฟันในการทำสะพานฟันติดแน่น
  • ผู้ที่ไม่ชอบใส่ฟันปลอมแบบถอดได้

ข้อดีของรากฟันเทียม

  • สามารถเคี้ยวอาหารได้ดี เสมือนฟันจริง
  • มีความใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบอื่น
  • ไม่มีปัญหากับการออกเสียง เมื่อเทียบกับฟันเทียมชนิดอื่น
  • ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียง
  • ป้องกันการสูญเสียฟันและกระดูกข้างเคียง
  • ดูแลทำความสะอาดง่าย 
  • หมดปัญหาฟันเทียมขยับระหว่างพูดคุยหรือรับประทานอาหาร
  • มีความคงทนถาวร 
  • ช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 
  • มีความปลอดภัยเเละสามารถใช้รักษาร่วมกับสะพานฟันเเละครอบฟัน สำหรับผู้ที่มีฟันแท้เหลือน้อยหรือผู้ที่ต้องการทำฟันปลอม



เตรียมตัวอย่างไรก่อนทำรากฟันเทียม

  • ก่อนจะเข้ารับการรักษาด้วยรากฟันเทียม ต้องตรวจและประเมินโดยละเอียดจากทันตแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการักษา
  • ในกรณีที่มีโรคประจำตัว มียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ มีประวัติการแพ้ยา ต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการผ่าตัด
  • ในกรณีที่มีประวัติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนข้อเทียม อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ก่อนการรักษา จึงควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบล่วงหน้า
  • วางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์ เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

วิธีดูเเลฟันหลังทำรากฟันเทียม

  • ในช่วงแรก ควรรับประทานอาหารเหลว เพื่อหลีกเลี่ยงเศษอาหารปนเปื้อนแผล 
  • หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งและเหนียวจนเกินไปในช่วง 1 - 2 เดือนแรก
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัดในวันแรกหลังการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ล้างเเผลด้วยน้ำเกลือ 3 - 4 ครั้งต่อวัน
  • สามารถดูเเลรักษาความสะอาดของฟันได้ตามปกติ เหมือนฟันธรรมชาติ 
  • พบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งและทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีพฤติกรรมขบเคี้ยวฟันหรือนอนกัดฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว



ใครที่ไม่เเนะนำให้ทำรากฟันเทียม
  • ผู้ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี เนื่องจาก กระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เป็นมะเร็ง ที่ต้องได้รับการฉายแสงบริเวณใบหน้าและขากรรไกร
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับการควบคุม เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเสี่ยงต่อการที่แผลหายช้า อักเสบ และติดเชื้อได้
  • ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนหรือมีภาวะกระดูกไม่แข็งแรง
  • ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ควรรับการรักษาก่อนทำรากฟันเทียม
  • ผู้ที่เป็นลูคีเมีย ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ และผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

รากฟันเทียมอยู่ได้นานแค่ไหน

รากฟันเทียมมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งอายุการใช้งานขึ้นอยู่กับการดูแล รักษา และทำความสะอาด ซึ่งควรกลับมาตรวจเช็กสภาพรากฟันเทียมทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี


โดย ทพ. ธนธร ทั่งทอง
Aesthetic Dental Center

 

 

 

Go to top