เทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวก Positive Parenting
การเลี้ยงดูลูกถือเป็นงานที่สำคัญและมีคุณค่ามากที่สุดสำหรับพ่อแม่ แต่การเป็นพ่อแม่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่หลาย ๆ คน อาจเคยประสบปัญหา “ ลูกไม่เชื่อฟัง ” ลูก ๆ ปฏิบัติไม่ทำตามการร้องขอของพ่อแม่ จากปัญหาดังกล่าว ทำให้พ่อแม่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร หลายครั้งต้องจบด้วยการขึ้นเสียงหรือการลงโทษที่รุนแรง เช่น การตี เพราะพ่อแม่เข้าใจว่านั่นจะทำให้ลูกเชื่อฟัง แต่แท้จริงแล้ววิธีเหล่านี้อาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเป็นบาดแผลในใจ เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าลงมือทำในสิ่งใหม่ ๆ ไม่มั่นใจในตัวเอง หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นปัญหา เช่น การโกหกได้
ในทางจิตวิทยาการ “ เลี้ยงลูกเชิงบวก ” เป็นการเลี้ยงดูที่เกิดจากความเข้าใจในพัฒนาการตามวัยของลูก เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกกับพ่อแม่ เติมเต็มและเอาใจใส่ลูกด้วยความรัก ทั้งยังส่งผลลูก ๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ โดยวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกมีดังนี้
1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
พฤติกรรมและทัศนคติของพ่อแม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำทางไปสู่ความคิดและพฤติกรรมของลูก โดยพ่อแม่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ๆ เพราะลูกมักสังเกตการกระทำของพ่อแม่เสมอ เช่น เมื่อมีตั้งกฎระเบียบภายในบ้าน แล้วปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะมีแนวโน้มทำตามเช่นกัน
2. ใช้คำพูดในการสื่อสารเชิงบวกหรือการให้กำลังใจลูกอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อลูก ๆ ทำอะไรมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ อาทิเช่น การเล่นกับเด็กคนอื่นอย่างอ่อนโยน การพูดคุยกับคนอื่นด้วยความสุภาพ การช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ พ่อแม่ควรบอกกล่าว ให้คำชมด้วยความจริงใจ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูก ๆ โดยพ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ฟังแล้วรุนแรงหรือกระทบต่อจิตใจลูกเมื่อลูกทำผิด เพราะอาจทำให้ลูกฝังใจได้
3. ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันและใกล้ชิดลูกมากขึ้น
ใช้เวลาที่มีคุณภาพอยู่กับลูก ๆ จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ลูกรู้สึกว่ามีพ่อแม่คอยใส่ใจและดูแลเสมอ เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ทำกิจกรรมบ้าง หรือการคุยเล่นทั่วไปก็สามารถช่วยได้ อีกทั้งวิธีนี้ยังสามารถทำให้พ่อแม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมของลูกได้ด้วย
4. ให้ลูกได้ใช้ความคิดเป็นของตัวเอง
เมื่อลูกโตขึ้น ลูกเริ่มมีความรับผิดชอบและสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น ดังนั้น การให้ลูกบอกความคิดในการแก้ปัญหาหรือการใช้ชีวิตประจำวันบ้างถือเป็นสิ่งที่ควรทำ การเปิดโอกาสให้ลูก ๆ ได้เสนอความคิดเห็นหรือวิธีการแก้ปัญหา โดยการเอื้อให้ลูก ๆ ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมลูกคิดเช่นนั้น พร้อมทั้งชวนให้ลูก ๆ ได้คิดถึงข้อดีและข้อควรระวังจากการแก้ปัญหานั้น ๆ จะทำให้ลูก ๆ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นพร้อม ๆ กับการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
5. สอนให้ลูกเข้าใจคนอื่น
เนื่องจากแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม การสอนให้ลูกเข้าใจความแตกต่างนี้ถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เด็ก เพราะการสอนให้ลูกเข้าใจคนอื่น จะเอื้อให้ลูก ๆ เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น
6. ยอมรับผิดบ้าง
ในข้อนี้อาจไม่ได้พูดถึงลูกโดยตรง แต่เป็นการพูดถึงพ่อแม่ที่ให้ยอมรับกับตนเองว่า พ่อแม่ก็สามารถทำผิดได้ ซึ่งพ่อแม่จะต้องกล้าที่จะขอโทษอย่างไม่เขินอาย นอกจากจะเป็นการสอนให้ลูกรู้ว่า ถึงแม้จะเป็นพ่อแม่ก็สามารถทำผิดพลาดได้และยังเป็นการสอนให้ลูกกล้าที่ยอมรับผิดเมื่อทำสิ่งผิดพลาดและเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง